สัญลักษณ์ธงเหลืองปลิวไสวอยู่ตามแผงร้านอาหาร เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงเทศกาลสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง อย่าง "เทศกาลกินเจ" ที่หลายคนเลือกจะงดบริโภคอาหารสัตว์ แล้วหันมาทานผัก โปรตีนที่ได้จากถั่ว เต้าหู้แทน พร้อมๆ ไปกับการรักษาศีล ทำความดี โดยปีนี้กำหนดจัดเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 7-16 ตุลาคม 2553
แล้วกินเจอย่างไรให้ถูกวิธี ไม่ให้อ้วน ไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร วันนี้ นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำดีๆ มาบอกให้ฟังว่า การกินเจถือเป็นเรื่องดี ที่คนหันมากินผักมากกว่า แต่การกินเจใช่เพียงจะมองแต่จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ควรมองเรื่องของการถือศีลควบคู่เป็นสำคัญ ส่วนวิธีการกินเจให้ถูกวิธี มีหลักง่ายๆ 8 ข้อ คือ
1.ต้องมั่นใจว่ารับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะหมู่โปรตีน ซึ่งโปรตีนที่จะมาทดแทนเนื้อสัตว์คือ โปรตีนที่ได้จากถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการผลิตออกมาในรูปแบบของเต้าหู้แผ่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ทอด ขณะที่วิทยาศาสตร์ด้านอาหารก้าวไกลไปมาก จึงทำให้เกิดโปรตีนเกษตรที่ปัจจุบันนี้ก็มีผู้นิยมบริโภคจำนวนมากเช่นกัน แต่จากที่ตนได้ลงสำรวจในตลาดพบว่า ปัจจุบันนี้มีการทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ทำมาจากโปรตีนเกษตร โดยทำมาจากแป้ง ซึ่งก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ทานมากไปอาจอ้วนได้
2.ความสะอาด ส่วนมากผู้ทานเจในปัจจุบันจะมักนิยมไปซื้ออาหารเจตามร้านค้า ไม่ค่อยปรุงอาหารเอง ซึ่งก็เสี่ยงต่อเรื่องของความสะอาด ดังนั้นผู้ปรุงอาหารเจขายควรคำนึงเรื่องของความสะอาดให้มาก โดยเฉพาะการทำความสะอาดผักที่นำมาประกอบอาหาร การเลือกดูเครื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็นซอส ซีอิ๊ว ต้องดูวันหมดอายุ และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น
แนะวิธีล้างผักง่ายๆ นำผักสดที่ซื้อมาใส่ภาชนะ เติมเกลือประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทิ้งไว้ 2-5 นาที แล้วล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 1 รอบ ก็จะช่วยล้างสารพิษออกจากผักได้ในระดับหนึ่ง ประมาณ 30-70%
3.หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ในที่นี้หมายถึงรสมันจัดกับเค็มจัด เพราะอาหารเจมักจะปรุงด้วยวิธีการผัด-ทอดในน้ำมัน หากเป็นไปได้ควรหันมาบริโภคอาหารประเภทต้ม ย่าง อบ ยำ เช่น ยำมะเขือยาว แกงจืดเต้าหู้ ฯลฯ แทน
ส่วนรสเค็มจัดนั้น ต้องอย่าลืมว่าการปรุงอาหารก็จะใช้ซอส ซีอิ๊ว เกลือแทนน้ำปลา ซึ่งเครื่องปรุงเหล่านี้มีปริมาณของโซเดียมสูง ซึ่งจะส่งผลให้ไตทำงานหนัก
ปกติคนเราจะบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 mg./วัน
4.ควรเลือกทานผัก-ผลไม้สด มากกว่าผักดอง เพราะผักสดมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าผักดอง
5.อาหารเจประเภทที่ปรุงด้วยวิธีการเคี่ยวนานๆ อาจทำให้คุณค่าของสารอาหารสูญเสียไป เช่น ต้มจับฉ่าย ที่ต้องใช้เวลาเคี่ยวนาน ในส่วนนี้ต้องระวังเรื่องของคุณค่าอาหารจะหายไป รวมถึงความสะอาดของผัก เพราะหากไม่ล้างให้สะอาดแล้วนำมาปรุง ก็เท่ากับสารพิษก็จะตกค้างอยู่ในหม้อ
6.ทานเจให้ได้ไอโอดีนอย่างเพียงพอ เพราะการทานเจไม่ได้รับประทานอาหารทะเล ดังนั้นการรับประทานอาหารเจก็ควรเติมเกลือไอโอดีนใส่ในการปรุงรสด้วยก็จะ ช่วยทดแทนได้
7.ควรบริโภคข้าวกล้องมากกว่าข้าวขาว เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีนมากกว่าข้าวขาว
8.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม แล้วหันมา ดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์แทน
8 ข้อหลักนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกไปปฏิบัติ แล้วรู้หรือไม่ว่าการกินเจจะมีประโยชน์กับระบบของร่างกายอย่างไร? ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุประโยชน์ของการกินเจไว้ว่า
- ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกให้หมด ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน สารอาหารที่มีคุณค่าในพืชผักสดผลไม้ช่วยให้การขับถ่าย และการย่อยเป็นปกติ
- เมื่อรับประทานเป็นประจำ โลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลง ทำให้อายุยืนยาว ผิวพรรณสดชื่น ผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใส ไม่พร่ามัว ร่างกายแข็งแรง รู้สึกเบาสบาย ไม่อึดอัด มีสุขภาพอนามัยดี
- อวัยวะหลักสำคัญภายในและอวัยวะประกอบทั้ง 5 แข็งแรง ทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์มีสมรรถภาพสูง (อวัยวะหลักภายในทั้ง 5 ได้แก่ หัวใจ, ไต, ม้าม, ตับ, ปอด) (อวัยวะประกอบทั้ง 5 ได้แก่ ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่, กระเพาะปัสสาวะ, กระเพาะอาหาร, ถุงน้ำดี)
- ร่างกายต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้สูงกว่าคนปกติธรรมดา อาทิ สารเคมี, ยากำจัดศัตรูพืช, ยาฆ่าแมลง, ก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล และสารอาหารในพืชผักช่วยให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกายทนต่อการทำลายจากรังสีต่างๆ เช่น กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และในสงคราม
ในบรรดาผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักเป็นประจำ ความเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่มีปรากฎ
โดยเฉพาะโรคที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง,โรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดตีบ, ไขมันอุดตันในเส้นโลหิต, โรคไต, ไขข้ออักเสบ, โรคเกาต์, โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่ายย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร, มะเร็งในกระเพาะ และลำไส้, โรคกระเพาะ, อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบในผู้ที่รับประทานอาหารเจอาหารพืชผัก และผลไม้เป็นประจำ
เห็นคุณประโยชน์นานัปการแบบนี้แล้ว กินเจปีนี้ ใครที่ยังไม่เคยทานเจ ลองหันมาทานเจดูบ้าง อย่างน้อยก็เหมือนเป็นการล้างพิษในร่างกายแถมยังอิ่มบุญอีกด้วย
ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team Content www.thaihealth.or.th